ตะคริว(ตะคิว)

ตะคริว (ตะคิว)

 
ตะคริว คือ การที่มีการหดเกร็งของกล้ามเนื้ออย่างรุนแรงเป็นเวลานาน ซึ่งมักเป็นที่กล้ามเนื้อแขนและขา โดยทั่วไปตะคริวมักเกิดไม่เกินสองนาที แต่อาจมีบางรายเกิดนานได้ถึงห้านาทีหรือนานกว่านั้น ในบางรายอาจเกิดบ่อยจนทำให้เกิดความทุกข์ทรมานได้ โดยทั่วไปตะคริวมักเกิดกับนักกีฬาที่เล่นกีฬาหนัก ผู้สูงอายุ ผู้หญิงมีครรภ์ ผู้ที่สูบบุหรี่จัด ผู้ป่วยโรคไตวายที่ได้รับการรักษาด้วยเครื่องไตเทียมและเกิดในตอนกลางคืน แต่ก็อาจเกิดในคนอายุน้อยและเกิดได้ทุกเวลา อาการนี้ถึงแม้จะไม่ส่งผลเสียถึงแก่ชีวิต แต่อาจก่อให้เกิดอันตรายได้ถ้าเกิดระหว่างว่ายน้ำ หรือขับรถ อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้
 
 
 

สาเหตุของการเกิดตะคริว

 
สาเหตุการเกิดยังไม่ทราบแน่ชัด มีหลายทฤษฎี อาจเกิดจากการที่เอ็นและกล้ามเนื้อไม่ได้มีการยืดตัวบ่อยๆ ทำให้มีการหดรั้ง เกร็งได้ง่ายเมื่อมีการใช้กล้ามเนื้อนั้นมากเกินไป นอกจากนั้นยังอาจเกิดจากเซลล์ประสาทและเส้นประสาทที่ควบคุมการหดและคลายตัวของกล้ามเนื้อทำงานผิดปกติไป และประการสุดท้ายอาจเกิดจากการไหลเวียนเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อไม่ดีพอซึ่งมักพบในคนที่มีโรคที่ทำให้หลอดเลือดตีบ เช่น โรคเบาหวาน เป็นต้น ซึ่งอาจแจกแจงสาเหตุเป็นข้อ ๆ ดังต่อไปนี้

– ร่างกายที่ขาดน้ำและเกลือแร่ เช่น ท้องเสียอย่างรุนแรง ผู้ที่ทานยาขับปัสสาวะ ผู้ที่เสียเหงื่อมาก

– การออกกำลังกายมากเกินไปโดยไม่ได้อบอุ่นร่างกายก่อน (warm-up)

– การอยู่ในท่าเดิมเป็นเวลานานๆ เช่น นักเขียนเป็นตะคริวที่มือจากการจับปากกาเป็นเวลานาน

– กล้ามเนื้อมีเลือดมาเลี้ยงไม่เพียงพอ เพราะกล้ามเนื้อต้องการออกซิเจนจากเลือดมากขึ้นในขณะที่มีการออกกำลังกายหนัก

– ความผิดปกติของฮอร์โมนบางชนิด เช่น ต่อมธัยรอยด์ทำงานน้อย

 
วิธีแก้ตะคริว การดูแลตนเองเมื่อเป็นตะคริว การรักษาอาการตะคริว
 
 
 
วิธีบรรเทาอาการทั่ว ๆ ไป

1. ยืดกล้ามเนื้อที่เป็นตะคริว เช่น ถ้าเป็นที่กล้ามเนื้อน่อง ให้เหยียดเข่าและกระดกปลายเท้าขึ้นหรือยืนกดปลายเท้ากับพื้น งดเขาและโน้มตัวไปข้างหน้า
2. ทาและคลึงเบาๆ ด้วยยาทาแก้ปวดหลังการยืดกล้ามเนื้อแล้ว
3. ประคบด้วยน้ำอุ่น โดยเฉพาะกล้ามเนื้อท้อง
4. ทานยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล

ถ้าเป็นบ่อยมากควรหาสาเหตุ ตรวจเช็คว่ายาที่รับประทานอยู่เป็นสาเหตุของตะคริวได้หรือไม่ อาจต้องตรวจหาโรคทางกายดังกล่าวแล้ว อย่างไรก็ตามโดยทั่วไปมักไม่ค่อยพบสาเหตุ

การรักษาที่ดีดังที่กล่าวไปแล้วคือ การยืดกล้ามเนื้อที่เกิดตะคริว นั้นให้คลายออกอย่างช้าๆ ตัวอย่างเช่น ถ้าเกิดตะคริวที่น่องจะทำให้เกิดเกร็งปลายเท้าจิกชี้ลงพื้นดิน ก็ให้ทำการดันปลายเท้าให้กระดกขึ้นช้าๆ แต่ห้ามทำการกระตุก กระชากรุนแรงอย่างรวดเร็ว เพราะจะเจ็บปวดจนกล้ามเนื้อฉีกขาดได้ ในรายที่เป็นบ่อยๆ มีการใช้ยาบางอย่าง เช่น ควินีนและยาคลายกล้ามเนื้อบางชนิด ซึ่งอาจใช้ในระยะสั้นๆ เช่น 4-6 สัปดาห์และดูการตอบสนอง แต่ผลการศึกษาถึงประโยชน์ยังไม่ชัดเจนนักและอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ในบางราย เช่น เกล็ดเลือดต่ำ เม็ดเลือดขาวต่ำ ตับอักเสบ หูอื้อ เสียงดังในหู เวียนศีรษะได้ เป็นต้น ดังนั้นโดยทั่วไปมักไม่ค่อยได้ใช้กันทั่วไป ถ้ามีอาการเกิดขึ้นบ่อยครั้งมาก ควรปรึกษาแพทย์

 

การป้องกัน ตะคริว

 
         
 
  • มีการอบอุ่นร่างกายก่อนออกกำลัง
  • ถ้าออกกำลังกายหนักควรดื่มน้ำและเกลือแร่ทดแทนให้เพียงพอ
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพราะตะคริวมักเกิดในผู้ที่มีร่างกายอ่อนแอหรือคนที่ขาดการออกกำลังกายที่ดีพอ
  • การฝึกการยืดกล้ามเนื้อบ่อยๆ อาจลดโอกาสการเกิดตะคริวได้ เช่น ที่น่องอาจทำได้โดยการกระดกเท้าขึ้นลง หรือเอามือแตะปลายเท้าขณะเหยียดเข่า ปั่นจักรยานอยู่กับที่ หรือยืนบนส้นเท้าห่างผนัง 1 ฟุตแล้วเอามือทาบผนังและค่อยๆ เหยียดแขนออกเพื่อยืดกล้ามเนื้อประมาณ 30 วินาทีแล้วทำใหม่ เป็นต้น
  • ระวังไม่ให้ร่างกายขาดเกลือแร่ โดยรับประทานผลไม้ที่มีเกลือแร่สูง เช่น กล้วย
  • ดื่มน้ำให้เพียงพอ เพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ
  • ไม่ควรอยู่ในท่าเดิมเป็นเวลานานๆ
  • งดสูบบุหรี่
  • พักผ่อนให้เพียงพอ
  • รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่
  • สวมรองเท้าที่พอเหมาะและอาจใส่ถุงเท้าตอนนอนเพื่อป้องกันการเกร็งของเท้า
  • ผู้สูงอายุควรค่อยๆ ขยับแขนขาช้า ๆ และหลีกเลี่ยงอากาศเย็นมากๆ
  • ในรายที่เป็นบ่อยๆ ควรไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุและแก้ไข

ใส่ความเห็น